History & Craft – ศิลปะพลิกฟื้นคืนประวัติศาสตร์สู่เชียงราย

  • 28 พฤศจิกายน 2565
  • -
  • อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
  • ฟรี

ถอดบทเรียนจากเสวนา ‘History & Craft – ศิลปะพลิกฟื้นคืนประวัติศาสตร์สู่เชียงราย’


เชียงรายมีความโดดเด่นอย่างมากในฐานะเมืองแห่งประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบว่ารากฐานทางประวัติศาสตร์ รวมถึงตำนานและพงศาวดารต่าง ๆ คือต้นกำเนิดสำคัญของศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ การศึกษาประวัติศาสตร์นอกจากจะมีคุณค่าในแง่ของการเชื่อมโยงอดีตเข้ากับปัจจุบัน ทำให้คนท้องถิ่นได้ตระหนักรู้ว่าตนเองคือใครมีที่มาที่ไปอย่างไรแล้ว เรื่องราวเหล่านี้ยังสร้างแรงบันดาลใจไม่รู้จบแก่ศิลปินที่ทำงานสร้างสรรค์ทุกแขนง

เราจึงขออุ่นเครื่องด้วยการพาทุกคนมาย้อนรอยประวัติศาสตร์ เพื่อทำความรู้จักเชียงรายในแง่มุมที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิมผ่านงานเสวนาทางวิชาการครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งจัดขึ้นในชื่องาน “ศิลปะพลิกฟื้นคืนประวัติศาสตร์สู่เชียงราย” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ณ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยแบ่งการเสวนาเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่

1. “อันตรธานเป็นงานศิลป์” เชียงรายยุคตำนานและเรื่องเล่า โดย อาจารย์อภิชิต ศิริชัย และดร.แอนโธนี โลเวนไฮม์ เออร์วิน ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง

2. “ความลับอันซับซ้อนที่ซุกซ่อนในเชียงราย” ยุคจารีตประวัติศาสตร์ โดย อาจารย์อภิชิต ศิริชัย และ ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สมหวัง อินทร์ไชย

3. “ไม่เลือนหายเพียงกลายร่าง” Art & Craft ไทยสู่เวทีนานาชาติ โดย คุณกาชามาศ เปเรซ และดร.กรกต อารมย์ดี ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง


“อันตรธานเป็นงานศิลป์” เชียงรายยุคตำนานและเรื่องเล่า

ตำนานน่าสนใจที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือเรื่องราวของ ‘แมงสี่หูห้าตา’ สัตว์ในตำนานของชาวล้านนาที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะอย่างแพร่หลาย ทั้งยังเคยเป็นมาสคอตในการแข่งขันกีฬาเจียงฮายเกมส์ ปี 2561 ด้วย ชาวล้านนาเชื่อว่าแมงสี่หูห้าตามีลักษณะคล้ายหมี มีขนสีดำปกคลุม มีหูสองคู่ และดวงตาห้าดวง กินถ่านไฟร้อนเป็นอาหารและขับถ่ายเป็นทองคำ ตำนานเก่าแก่ของเชียงรายเล่าขานกันว่าแมงสี่หูห้าตาถูกพบครั้งแรกบริเวณที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้วในปัจจุบัน

ดร.แอนโธนี โลเวนไฮม์ เออร์วิน ชาวอเมริกันผู้ทำวิจัยเรื่องศาสนาพุทธในไทยและอยู่เชียงรายมากว่า 15 ปีกล่าวในการเสวนาว่า “แมงสี่หูห้าตาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ พุทธศิลป์ต่าง ๆ ในเชียงราย” เนื่องจากดร.แอนโธนีเห็นรูปปั้นสัตว์ประหลาดชนิดนี้ที่วัดพระธาตุดอยเขาควายแก้วแล้วเกิดความสงสัยว่าคือตัวอะไร จึงนำไปสู่การพูดคุยกับคนท้องถิ่นและสืบค้นเรื่องราวเพิ่มเติม

แม้ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้แน่ชัดว่าสัตว์ประหลาดชนิดนี้มีอยู่จริงหรือไม่ แต่พลังของเรื่องเล่าและตำนานต่าง ๆ ในเมืองเชียงรายก็นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบร่างสร้างเมืองขึ้นมา ทั้งยังมีพลังในการขับเคลื่อนวิถีชีวิตชุมชนของผู้คนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน


“ความลับอันซับซ้อนที่ซุกซ่อนในเชียงราย” ยุคจารีตประวัติศาสตร์

ในหัวข้อนี้ ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ กล่าวถึง ‘ตำนานพระเจ้าเลียบโลก’ ซึ่งเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาดินแดนล้านนา สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์และการเชื่อมต่อระหว่างล้านนากับโลกภายนอกที่อยู่ห่างไกลออกไป โดยชาวล้านนามีการติดต่อสื่อสารอย่างกว้างขวางกับชาติพันธุ์อื่น ๆ มากมาย และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลายทั้งในทางเป็นมิตรและศัตรู ผศ.สุดแดนได้นำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้วิเคราะห์เส้นทางที่ปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลก และพบว่าตำนานนี้เล่าถึงอาณาบริเวณที่กว้างขวางมากโดยมีล้านนาเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปถึงดินแดนที่อยู่ห่างไกล ทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าในสมัยโบราณระหว่างอาณาจักรล้านนา เชียงตุง และสิบสองปันนา

ผศ.สุดแดนให้ความเห็นว่าตำนานมีความเชื่อมโยงกับงานศิลปะในหลายแง่มุม ประการแรก ตำนานทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์อดีตและปัจจุบันไม่ต่างจากงานศิลปะ ประการที่สอง นอกจากวิพากษ์วิจารณ์แล้วตำนานยังให้ความหวังกับผู้คนว่าอนาคตจะดีกว่าวันนี้ ประการสุดท้าย ตำนานบ่งบอกว่ามนุษย์มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการสร้างโลกให้รุ่งเรืองหรือเสื่อม สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองอนาคตวันข้างหน้าต่อไปได้

ด้านอาจารย์อภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระด้านเชียงรายศึกษา ได้บรรยายถึงการแบ่งประวัติศาสตร์เมืองเชียงรายออกเป็น 4 ยุคสมัย ได้แก่ ยุคราชวงศ์มังราย ยุคภายใต้การปกครองของพม่า ยุคฟื้นฟูเชียงราย และยุครวมศูนย์รัฐบาลสยาม


ราชวงศ์มังราย

ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายคือ ‘พระญามังราย’ พระราชโอรสของกษัตริย์ผู้ครองเมืองเงินยาง วันหนึ่งช้างมงคลของพระญามังรายหลุดหายไป ท่านจึงเสด็จออกตามหาช้างและได้มาเห็นสภาพภูมิประเทศบริเวณดอยจอมทองริมฝั่งแม่น้ำกก ซึ่งมีดอย 3 ลูก ได้แก่ ดอยจอมทอง ดอยจอมแจ้ง ดอยจอมแว่ คล้ายกับภูมิประเทศของเมืองเงินยางบ้านเกิดท่านที่มีดอย 3 ลูกเช่นกัน ได้แก่ ดอยตุง ดอยท่า ดอยย่าเถ้า เมื่อเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีจึงสร้าง ‘เมืองเชียงราย’ ขึ้นโดยใช้ดอยจอมทองเป็นสะดือเมือง และย้ายราชธานีจากเมืองเงินยางมาอยู่ที่เมืองเชียงราย

พระญามังรายประทับอยู่ที่เชียงรายราว 6 ปี ก่อนจะเดินทางไปประทับยังเมืองฝางเพื่อรวบรวมไพร่พล และต่อมาได้เคลื่อนพลบุกยึดเมืองหริภุญชัยซึ่งเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจและพุทธศาสนา จากนั้นจึงสร้างเมืองกุมกามและเมืองเชียงใหม่ โดยสถาปนาเชียงใหม่เป็นราชธานีทำให้เมืองเชียงรายถูกลดบทบาทลง

หลังจากพระญามังรายถูกฟ้าผ่าสวรรคตที่เชียงใหม่ พระญาไชยสงคราม รัชกาลที่ 2 พระราชโอรสของพระญามังรายทรงย้ายราชธานีกลับมาเชียงราย ต่อมาพระญาแสนพู รัชกาลที่ 3 พระราชโอรสของพระญาไชยสงครามทรงย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองเชียงแสน ช่วงต้นราชวงศ์มังรายมีการย้ายราชธานีถึง 3 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าเสถียรภาพด้านการเมืองการปกครองยังไม่มั่นคงดีนัก จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 5 ปกครองโดยพระญาผายูทรงย้ายราชธานีไปที่เชียงใหม่อย่างถาวร ไม่กลับมาเชียงรายและเชียงแสนอีกเลย


ยุคภายใต้การปกครองของพม่า

ราชวงศ์มังรายรุ่งเรืองมากในช่วงรัชกาลที่ 9 ปกครองโดยพระเจ้าติโลกราช ก่อนจะเริ่มเข้าสู่ช่วงอ่อนแอในช่วงปลายของยุค เนื่องจากขุนนางมีบทบาทและอำนาจมากขึ้น ถึงขั้นสามารถสั่งปลดหรือปลงพระชนม์กษัตริย์ล้านนาได้ ความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์ทำให้ล้านนาอ่อนแอ จนพระเจ้าบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอูของพม่าเข้ามายึดครองล้านนาได้สำเร็จ ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2101-2347 ล้านนาถูกปกครองโดยราชวงศ์ตองอูและราชวงศ์คอนบองของพม่า ในช่วงราชวงศ์ตองอูแผ่นดินล้านนายังคงอยู่เย็นเป็นสุข พม่าเข้ามาปกครองทางการทหารและเก็บส่วยเท่านั้น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนาและการดำเนินชีวิตของชาวล้านนา แต่ในราชวงศ์คอนบองเริ่มมีการกดขี่และรีดไถอย่างหนัก กลุ่มการเมืองท้องถิ่นในล้านนาจึงเริ่มลุกขึ้นมาต่อต้านพม่าซึ่งเรียกว่าการฟื้นม่าน เจ้าเมืองเชียงรายพยายามฟื้นม่านอยู่หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ช่วงปี 2270-2306 เชียงใหม่ฟื้นม่านสำเร็จและเป็นอิสระจากพม่า ขณะที่เชียงรายและเมืองอื่นยังถูกพม่าปกครอง

ในช่วงที่ราชวงศ์คอนบองยึดครองล้านนา พม่าเองก็ประสบปัญหาการเมืองภายใน ฝั่งพม่าต้องจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยจึงไม่มีเวลาควบคุมหัวเมืองมากนัก ต่อมาในปี 2317 เชียงใหม่และลำปางสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสิน กองทัพสยามและล้านนาจึงร่วมมือกันทำสงครามกวาดล้างพม่า ซึ่งกว่าจะสำเร็จต้องใช้เวลายาวนานถึง 30 ปี อำนาจของพม่าหมดสิ้นลงในปี 2347 เมืองเชียงแสนแตกพ่าย ผู้คนถูกกวาดต้อนไปยังเมืองต่าง ๆ ทางใต้ แผ่นดินล้านนาทุกหย่อมหญ้ากลายเป็นประเทศราชของสยาม ระหว่างนั้นเมืองเชียงรายถูกทิ้งร้างไปเกือบ 40 ปี ไม่มีผู้คนหลงเหลืออยู่เลย


ฟื้นฟูเชียงราย

กระทั่งปี 2386 จึงมีการฟื้นฟูเมืองเชียงรายขึ้นใหม่ โดยเจ้าเมืองเชียงใหม่ส่งเจ้านายบุตรหลานที่สืบเชื้อสายเจ้าเจ็ดตนขึ้นมาดูแล มีการเกณฑ์ไพล่พลชาวไตใหญ่และไตเขินจากเมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลย และเมืองสาดมาตั้งถิ่นฐานและพื้นฟูเมือง ทำให้เชียงรายกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เจ้าเมืองเชียงรายมีพระราชทินนามว่าพระยารัตนอณาเขตร์ ส่วนเมืองมีชื่อว่า ‘พันธุมติรัตนอาณาเขต’ มีความหมายว่าเมืองแก้วในสายหมอก ในช่วงปี 2387-2448 เชียงรายมีเจ้าเมือง 4 คน ได้แก่ เจ้าธัมมลังกา

เจ้าอุ่นเรือน เจ้าสุริยะ และเจ้าเมืองไชย ยุคนี้มีการก่อกำแพงเมืองขึ้นมาตั้งแต่ประตูนางอิงไปจนถึงประตูเชียงใหม่ ในยุคการปกครองของเจ้าสุริยะมีการตัดถนนในเวียงเชียงรายเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2432 ทั้งยังเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาสำรวจและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ โดยเจ้าสุริยะมีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับพระยาภักดีราชกิจ (ตื้อ ภักดี) ซึ่งเป็นผู้นำการวางรากฐานศาสนาคริสต์ในเมืองเชียงราย


ยุครวมศูนย์รัฐบาลสยาม

ในช่วงปี 2442-2448 เชียงรายปกครองโดยเจ้าเมืองไชย มีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เจ้าเมืองไชยและคณะผู้ปกครองจึงเป็นคณะปกครองตามจารีตประเพณีล้านนาชุดสุดท้าย ปี 2448 รัฐบาลสยามปลดเจ้าเมืองไชยออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองและเปลี่ยนตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอเมืองเชียงราย โดยมีข้าหลวงสยามคอยกำกับดูแลการบริหารบ้านเมือง แสดงให้เห็นถึงอำนาจของสยามที่หยั่งรากลึกมั่นคงแล้วในเมืองเชียงราย

นโยบายอำนาจรวมศูนย์ของรัฐบาลสยามมีจุดประสงค์เพื่อลดทอนอำนาจของกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ ซึ่งนอกจากส่งข้าราชการจากกรุงเทพฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ยังมีความพยายามครอบงำทางวัฒนธรรมด้วยการร่วมมือกับมิชชันนารีต่างชาติ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมและการศึกษา

บุคคลที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาเมืองเชียงรายคือนายแพทย์วิลเลียม เอ. บริกส์ มิชชันนารีชาวแคนาดา หมอบริกส์เป็นผู้ออกความเห็นว่าควรรื้อกำแพงและประตูเมือง เนื่องจากคูเมืองเป็นโคลนตมสกปรกเกิดการสะสมของเชื้อโรคทำให้คนเจ็บป่วย นอกจากมีความรู้ทางการแพทย์แล้ว หมอบริกส์ยังเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม จึงเป็นผู้ออกแบบและริเริ่มการก่อสร้างสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลากลางจังหวัด โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย การมาถึงของมิชชันนารีนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่วางรากฐานการพัฒนาเมืองเชียงรายให้เจริญก้าวหน้าสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


“ไม่เลือนหายเพียงกลายร่าง” Art & Craft ไทยสู่เวทีนานาชาติ”

ปิดท้ายการเสวนาด้วยหัวข้อ Art & Craft ที่เจาะลึกถึงการนำคุณค่าจากท้องถิ่นมาสร้างสรรค์งานศิลปะและต่อยอดเพิ่มมูลค่า วิทยากรคนแรกคือ ดร.กรกต อารมย์ดี ผู้เติบโตในชุมชนชาวประมงบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ย้อนกลับไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย วิชาเปลี่ยนชีวิตของเขาคือวิชาศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งกรกตนำเทคนิคการทำว่าวจุฬาปักเป้าที่เรียนรู้จากก๋งมาทำงานส่งอาจารย์และได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้แรงบันดาลใจของเขายังมาจากวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านที่ทำเครื่องมือจับสัตว์น้ำจากไม้ไผ่ และต่อยอดมาเป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

กรกตเรียนรู้ผ่านการสังเกตและลงมือทำอย่างต่อเนื่อง เขาส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงสินค้า OTOP หลายครั้ง ก่อนจะได้รับรางวัลชนะเลิศในปี 2549 เป็นใบเบิกทางให้ได้ไปจัดแสดงงานที่ประเทศฝรั่งเศส นำไปสู่การร่วมงานกับแบรนด์หรูระดับโลก โรงแรมชื่อดัง ร้านอาหาร และอีกหลายสถานที่ทั้งในไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้เขายังทำโคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้จำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ KORAKOT ซึ่งนอกจากจะสร้างคุณค่าในการเผยแพร่งานฝีมือพื้นบ้านออกสู่สายตาชาวโลกแล้ว เบื้องหลังการทำงานยังสามารถสร้างอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นในชุมชนด้วย

ถัดมาคือเรื่องราวของคุณกาชามาศ เปเรซ ศิลปินผ้าทอมือที่เคยใช้ชีวิตและทำงานด้านการออกแบบที่ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นจึงกลับเมืองไทยเพื่อค้นหาผ้าทอไปใช้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท การเดินทางไปเรียนรู้ศิลปะการทอผ้าตามชนเผ่าต่าง ๆ บนดอยในภาคเหนือ สร้างแรงบันดาลใจให้กาชามาศรู้สึกอยากทอผ้าด้วยตนเอง จึงตัดสินใจลาออกและใช้เวลาเข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านที่ทอผ้าตามชุมชนต่าง ๆ อย่างจริงจัง ความสนุกในงานทำให้กาชามาศริเริ่มดัดแปลงผ้าทอด้วยวัสดุและเทคนิคแปลกใหม่ที่ชาวบ้านทั่วไปไม่ทำกัน จนได้ออกมาเป็นผลงานที่โดดเด่น

ผลงานของกาชามาศมุ่งเน้นการถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติ ผสานไปกับเรื่องราวลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังผ้าทอแต่ละผืน นับเป็นการนำเสนองานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในรูปแบบของผ้าทอ ศาสตร์แห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เธอหลงรักและปรารถนาจะสืบสานต่อให้ยั่งยืน

เรื่องราวประวัติศาสตร์ ตำนาน และมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นในงานเสวนานี้ จะปรากฏอีกครั้งในรูปแบบงานศิลปะภายในงาน Thailand Biennale, Chiang Rai ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายปี 2023 รับรองว่าหากมาเที่ยวชมงานจะได้รับทั้งความรู้และแรงบันดาลใจกลับไปอย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน





ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก
Mekong Basin Civilization Museum