เสวนา “ประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายและการเดินทางของกลุ่มคาราวาน การค้า แรงงาน และผู้คน”กับ อาจารย์วราภรณ์ เรืองศรี

  • 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566
  • 15.00-17.00 น.
  • MAIIAM Pavilion | ใหม่เอี่ยมพาวิลเลี่ยน
  • Free

MAIIAM Pavilion | ใหม่เอี่ยมพาวิลเลียน

ใหม่เอี่ยมพาวิลเลียน ขอเชิญทุกท่านร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายและการเดินทางของกลุ่มคาราวาน การค้า แรงงาน และผู้คน” กับ อาจารย์วราภรณ์ เรืองศรี 

วันพุธที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566 
ตั้งแต่เวลา 15.00-17.00 น. ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม
ณ MAIIAM Pavilion | ใหม่เอี่ยมพาวิลเลี่ยน https://maps.app.goo.gl/t2cU8kGoz1G3aJaLA

ชวนล้อมวงเสวนาบนจุดตั้งต้นของนิทรรศการ MAIIAM Pavilion | Point of No Concern: return to the rhizomatic state ที่บอกเล่าเรื่องราวของเส้นทางอันเชื่อมโยงผู้คนต่างวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ผ่านการข้ามสันเขาร่องน้ำเพื่อมาแลกเปลี่ยนสินค้า เรื่องเล่า และความเชื่อระหว่างกัน มาร่วมปรับเปลี่ยนจินตนาการต่อภูมิภาคล้านนาออกจากกรอบความเป็นอาณาจักรไปสู่การมองความเป็นล้านนาผ่านเครือข่ายสามัญชน

นำถกประเด็นโดยอาจารย์วราภรณ์ เรืองศรี จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์วราภรณ์สนใจศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ประวัติศาสตร์ล้านนาและท้องถิ่น รวมถึงอัตชีวประวัติและจุลประวัติศาสตร์ โดยได้รับการตีพิมพ์ผลงาน อาธิ กาดก่อเมือง: ชาติพันธุ์และคาราวานการค้าล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2564 ตำราวิชาประวัติศาสตร์ล้านนาและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง.โครงการวิจัยตำรา ภายใต้เงินทุนสนับสนุนจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการวิจัยในเงื่อนไขการลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ ณ ประเทศเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา, 2563 เป็นต้น

———————————-

เกี่ยวกับใหม่เอี่ยม พาวิลเลียน, ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 

Point of No Concern: return to the rhizomatic state

ศิลปิน: สหพล ชูตินันท์, กอบพงษ์ ขันทพันธ์, ภูวมินทร์ อินดี, นนทนันทร์ อินทรจักร์, ลลิตา สิงห์คําปุก, เหล้ากบฏเงี้ยว และ  อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต
ภัณฑารักษ์: อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต และอธิคม มุกดาประกร

สถานที่: ร้านหนังสือเวียงทองเก่า (ตรงข้ามกาดหลวงฝั่งร้านขายผ้า) ถนนไตรรัตน์ ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 

จัดแสดงระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2566 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เวลาทำการ: ทุกวันพฤหัส – วันอังคาร เวลา 10.00 – 11.30 น. และ 12.30 – 18.00 น

นิทรรศการ Point of No Concern: Return to the Rhizomatic State พาทุกท่านไปสำรวจเส้นทางโบราณของพ่อค้าวัวต่างที่เดินทางไป-มาระหว่างตอนใต้ของจีน เมียนมา และภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน นี่คือเส้นทางที่ก่อให้เกิดการร้อยเรียงเครือข่ายชุมชนในภูมิภาค สู่การสถาปนาอาณาจักรล้านนาในอดีต อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต ภัณฑารักษ์ร่วม ได้ชักชวนผู้คนที่มีถิ่นฐานบนเส้นทางนี้ในยุคปัจจุบันมาถ่ายทอดเรื่องราวของพื้นที่ ประวัติศาสตร์บอกเล่า และความทรงจำของตน ผ่านทางภาพ เสียง ประสบการณ์ ปฏิสัมพันธ์ และสุรา

ไม่ว่าจะเป็นผลงานภาพเคลื่อนไหวแบบจัดวางของภูวมินทร์ ที่ร้อยเรียงเรื่องเล่าจากความทรงจำของชาวบ้านจากยุคสัมปทานค้าไม้ในจังหวัดลำปาง ที่ซึ่งการเข้ามาของลัทธิอาณานิคมส่งผลสะเทือนถึงจิตวิญญาณความเป็นท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ ผลงานจิตรกรรมหลากสีที่ล้อไปกับภาพกากในจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านนาแปะทับด้วยแผ่นไม้ที่ถูกไดคัทเป็นลวดลายสัก ‘ขาก้อม’ อันเป็นลายสักของคนล้านนาในอดีตที่กำลังเลือนหายไปในยุคปัจจุบันโดยนนทนันทร์ หรือชุดงานจิตรกรรมของกอบพงษ์ที่พาไปสำรวจการสถาปนาอำนาจนำในการก่อรูปรัฐสยามที่เปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทเขินลงไปถึงระดับครอบครัว ผลงานศิลปะจัดวางของลลิตาบอกเล่าความทรงจำของครอบครัวบนแนวเส้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย-เมียนมา ขณะที่ผลงานของสหพลได้ใช้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในการตีความเอกสารจดหมายเหตุจากราชการเพื่อให้เห็นถึงความไม่มั่นคงต่อความจริงของรัฐไทยในทศวรรษ 1990 หรือผลงานของอนุรักษ์ที่ใช้กล่าวถึงการใช้วิทยุกระจายเสียงในฐานะเครื่องมือเชื่อมต่อผู้คนชนกลุ่มน้อยให้ข้ามผ่านเส้นเขตแดนแบ่งรัฐสมัยใหม่ รวมถึง ‘เหล้ากบฏเงี้ยว’ สุราชุมชนโดยกลุ่มนักกิจกรรมเมืองแพร่ ที่ตั้งใจให้ชื่อของมันสะท้อนอารยะขัดขืนของคนท้องถิ่นที่มีต่อรัฐไทย

ท่ามกลางกระแสสำนึกรักบ้านเกิดและหวนหาความเป็นพื้นถิ่นเพื่อก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นใหม่ ซึ่งล้อกันไปกับพลวัตการกระจายอำนาจที่ยังกระท่อนกระแท่นในปัจจุบัน นิทรรศการนี้เป็นดังข้อเสนอที่ชวนให้เราปลดเปลื้องสายตาที่คุ้นชินแต่ความสวยงามของความเป็นต่างจังหวัด ก่อนจะปรับโฟกัสให้เห็นถึงความจริงที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ขนาดย่อมของชุมชน เพราะพื้นที่ไม่ใช่ทรัพยากรที่ปราศจากชีวิต หากเต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คน อารมณ์ และบาดแผล นิทรรศการฯ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2566 – 5 กุมภาพันธ์ 2567