Haegue Yang

Seoul / Berlin

เกิดที่โซล เมื่อปี พ.ศ. 2514 พำนักและทำงานอยู่ที่เบอร์ลิน และโซล
____
แฮกู ยาง อาศัยและทำงานอยู่ระหว่างเบอร์ลินและโซล เธอดำรงตำแหน่งรองอธิการแห่ง Städelschule แฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งเธอได้รับปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์จากสถาบันแห่งนี้ในปี พ.ศ. 2542 ผลงานของเธอครอบคลุมสื่อหลากหลายประเภท ตั้งแต่ภาพปะติด หรือคอลลาจ ไปจนถึงงานประติมากรรมจลนศาสตร์ (kinetic sculpture) ที่เคลื่อนไหวได้ และงานจัดวางตามขนาดพื้นที่ห้อง
____
งานของ ยาง เชื่อมโยงประวัติศาสตร์และประเพณีที่มีความแตกต่างกันอย่างมากโดยใช้สำนวนภาพของเธอเอง ศิลปินใช้เทคนิคงานฝีมือและวัสดุที่หลากหลาย รวมถึงความหมายแฝงทางวัฒนธรรมของวัสดุเหล่านี้ ตั้งแต่ราวตากผ้าไปจนถึงมู่ลี่ กระดาษฮันจิ (Hanji) ไปจนถึงฟางประดิษฐ์ เธอเป็นที่รู้จักจากผลงานการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีหลายประสาทสัมผัสซึ่งกระตุ้นการรับรู้นอกเหนือจากการมองเห็น สร้างประสบการณ์ร่วมเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น แรงงาน การย้ายถิ่นฐาน และการพลัดถิ่นจากมุมเอียงของสุนทรียศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อให้การอ้างอิงของเธอยังคงความผันแปรและมีลักษณะเฉพาะตัว ยาง ให้ความสำคัญกับความลื่นไหลมากกว่าการเล่าเรื่องที่เป็นเอกภาพ “การรักษาความไม่แน่นอนระหว่างรูปแบบและเนื้อหา วัสดุและหัวข้อ สิ่งที่เป็นนามธรรมและประวัติศาสตร์ คือการแสดงออกถึงการต่อสู้ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง” เธอกล่าว
____
แฮกู ยาง ได้รับรางวัล Wolfgang Hahn ในปี พ.ศ. 2561 และรางวัล Benesse ครั้งที่ 13 ในงาน Singapore Biennale ในปี พ.ศ. 2565 เธอมีผลงานจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่สำคัญในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก รวมถึง พิพิธภัณฑ์ศิลปะเฮลซิงกิ (พ.ศ. 2566), Pinacoteca de São Paulo (พ.ศ. 2566) พิพิธภัณฑ์ Statens Kunst, โคเปนเฮเกน (พ.ศ. 2565), หอศิลป์แห่งออนแทรีโอ โตรอนโต (พ.ศ. 2563), Tate St. Ives สหราชอาณาจักร (พ.ศ. 2563), พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยแห่งชาติ เกาหลี (พ.ศ. 2563), พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ก (พ.ศ. 2562), พิพิธภัณฑ์ลุดวิก โคโลญจน์ (พ.ศ. 2561), Centre George Pompidou, ปารีส (พ.ศ. 2559), พิพิธภัณฑ์ศิลปะลีอุม โซล (พ.ศ. 2558), Haus der Kunst, มิวนิค (พ.ศ. 2555) และศาลาประจำชาติเกาหลีในงาน เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 53 (พ.ศ. 2552) ผลงานของ ยาง ยังปรากฎเป็นหัวข้อของบทความและหนังสือจำนวนมาก และรวมอยู่ในชุดสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วยุโรป เอเชีย และอเมริกา