เปิดโลก (The Open World)

ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 (Thailand Biennale Chiang Rai 2023)
9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 – 30 เมษายน พ.ศ. 2567


ทีมงานภัณฑารักษ์

ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ : ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, กฤติยา กาวีวงศ์
ภัณฑารักษ์ : อังกฤษ อัจฉริยโสภณ, มนุพร เหลืองอร่าม 


ความเป็นมา

เนื่องจากเชียงรายเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ทีมภัณฑารักษ์เห็นความสำคัญของการเรียนรู้จากอดีตที่จะนำพาเราก้าวไปสู่อนาคต จึงเสนอแนวคิดในการจัดงานเบียนนาเล่ครั้งนี้ โดยเน้นแง่มุมทางประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของเชียงรายเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานเพื่อเผยให้เห็นถึงมุมมองของเรื่องเล่าขนาดย่อม และ มิติความหลากหลายของวัฒนธรรม และระบบนิเวศของเมือง

ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 จึงเน้นบริบทของเชียงราย เพื่อจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์หลังโควิด-19 ในปัจจุบันที่เราเผชิญอยู่ในระดับท้องถิ่นกับท้องถิ่นอื่นๆ ในภูมิภาคและโลก และเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหลากหลาย และประเด็นร่วมสมัยที่เกิดขึ้น เนื่องจากเชียงรายเป็นจังหวัดที่แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุครัฐจารีตสู่รัฐสมัยใหม่ ผ่านการเดินทางของอิทธิพลจากอารยธรรมที่หลากหลาย

ที่ผ่านมาในแอ่งที่ราบเชียงแสน เชียงราย ในฐานะที่เป็นอดีตเมืองเก่า ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกก ทำหน้าที่เป็นเมืองทางผ่านของพญามังราย ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์มังรายจากเชียงแสน หิรัญนครเงินยาง ซึ่งเป็นอาณาจักรเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มีการวิจัยเกี่ยวกับเชียงราย ในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ใหม่  ทิ้งคำถามไว้ก็คือ การเปลี่ยนผ่านของจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ยุครัฐจารีตสู่รัฐสมัยใหม่ ที่ผ่านช่วงอาณานิคม และ สงครามเย็น แนวคิดของรัฐในการมองเชียงราย ในฐานะที่เป็นเมืองชายแดน คือเปลี่ยนจากมุมมองความมั่นคงมาสู่ความมั่งคั่ง

เมืองเชียงรายเอง ได้ทบทวนบทบาทและจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนใหม่ โดยหันความสนใจจากศูนย์กลางมาสู่ประเทศเพื่อนบ้านรอบชายแดน ดังนั้นสถานะจึงเปลี่ยนจากการเป็นประตูสู่ต่างประเทศเพื่อนบ้าน มาสู่ความเป็นห้องรับแขกของไทย คำถามในงานวิจัยของนิกวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดร. พลวัฒ ประพัฒน์ทอง ที่น่าสนใจนี้คือ กระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ได้เปิดพื้นที่ให้ผลงานศิลปะ และ การสร้างสรรค์มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ศิลปินสามารถทำอะไรได้บ้างในการปฎิรูปและประกอบ สร้างสังคมเชียงรายในปัจจุบัน[1] 

การกลับมาของศิลปินเชียงรายกับการทวงคืนเสียงและเอกลักษณ์


คำตอบนี้เริ่มปรากฏขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2527-2535 จากการวิจัยของ ดร. พลวัฒ ย้ำว่า การกลับมาของศิลปินเชียงรายในทศวรรษที่ 1980 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ของเชียงรายด้วยงานศิลปะร่วมสมัย (คำนิยามศิลปะร่วมสมัยของ ดร. พลวัฒ น่าจะหมายถึงงานศิลปะประเพณีแนวใหม่ หรือ neo-traditional art)

ปรากฎการณ์ ที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคืองาน ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ซึ่งจัดมาแล้วห้าครั้ง โดยเป็นการแสดงให้เห็นถึงการรื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมของคนเมือง และยังเป็นการรื้อฟื้น “ความเป็นชาติพันธุ์” ที่แสดงให้เห็นถึงเชียงรายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ด้วย  ซึ่งจุดนี้เองเป็นการอ้างอิงถึงผลงานหนังสือเรื่อง “30 ชาติ ในเชียงราย” เขียนโดย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ อดีตนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เคยเป็น ส.ส. เชียงราย ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูล สงคราม ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ตั้งแต่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ ส่งผลให้มีการ “ทบทวนและอ่านในแง่มุมใหม่” [2]

หลังจากนั้นเริ่มมีการทำงานร่วมกันของศิลปิน พระสงฆ์ และ ชุมชน เป็นการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับเชียงราย ในทศวรรษต่อมา ทำให้เกิดกระแสปฎิรูปศิลปวัฒนธรรมเชียงรายระยะที่สอง ต่อจากงานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง คือหลังจากเชียงรายฉลอง 750 ปี โดยหมุดหมายคือการเปลี่ยนอัตลักษณ์ของเมืองชายแดน มาเป็นเมืองศิลปิน โดยมีกลุ่มศิลปินหลายคนได้เริ่มทำงานกับชุมชน สร้างศาสนสถาน ไปจนถึงการผลักดันระดับนโยบายทางสังคม ฯลฯ ทำให้เกิดการร่วมมือกันเรียกร้องให้สร้างพื้นที่ทางศิลปะขึ้นแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงผลักดันให้จังหวัดรับรองสถานะของบ้านศิลปิน เปิดสตูดิโอศิลปิน และ หอศิลป์ ให้ประชาชนได้เข้าชม[3] ในขณะเดียวกัน เนื่องจากเชียงรายประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย จึงทำให้เกิดการผลิบานของงานศิลปะแบบจารีต และชาติพันธุ์ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการต่อยอดไปสู่งานศิลปะและการออกแบบร่วมสมัย ที่นำรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย

จากการลงพื้นที่สองเดือนที่ผ่านมา  จะเห็นได้ว่า ชุมชนศิลปินเชียงรายมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยเริ่มจากระดับล่างสู่บน (bottom-up approach) ทำให้เห็นว่าเชียงรายมีศักยภาพมากในการเป็นพื้นที่จัดงาน ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ประการแรก เชียงรายมีประวัติศาสตร์อันยาวนานผ่านช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ สมัยสงครามอาณานิคม และสงครามเย็นที่พัวพันกับภูมิภาคและระดับโลก ประกอบด้วยอาณาจักรต่างๆ เช่น โยนกนคร เงินยางเชียงแสน เวียงกาหลง ภูกามยาว ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของประเพณีและมรดกล้านนา โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ศิลปหัตถกรรม และมีชุมชนศิลปินที่เข้มแข็ง สามารถทำงานร่วมกันได้กับภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาครัฐทุกระดับในจังหวัด

ด้วยภูมิหลังนี้ เชียงรายจึงกลายเป็นสถานที่บ่มเพาะและสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินที่มีพรสวรรค์มากมาย โดยเฉพาะศิลปินสมัยใหม่ในยุคต้นๆ และกลุ่มประเพณีแนวใหม่ เช่น ถวัลย์ ดัชนี และเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินที่มีชื่อเสียงสองคนนี้ได้กลายเป็นบุคคลสำคัญที่เดินทางกลับบ้าน และมีส่วนช่วยเหลือบ้านเกิดเมืองนอน และเริ่มสร้างชุมชนศิลปะผ่านพิพิธภัณฑ์และวัดของตนเอง ตลอดจนสมาคมขัวศิลปะ ซึ่งขณะนี้มีศิลปินประมาณ 300 คน และสตูดิโอศิลปิน 80 แห่ง กระจายอยู่ทั่วจังหวัด ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ของเชียงราย ยากที่จะหาจังหวัดอื่นเทียบได้ นอกจากกรุงเทพฯ ทีมภัณฑารักษ์พบว่าเชียงรายมีความโดดเด่นในด้านศิลปะ และมีศักยภาพในการจัดงานเบียนนาเล่ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน ประเพณี และความร่วมสมัย

เปิดโลก

ทีมภัณฑารักษ์ได้ไปลงพื้นที่ค้นคว้าที่ อำเภอเชียงแสน บ้านเกิดของพญามังรายที่กลายเป็นเมืองร้างตอนเจ็ดร้อยกว่าปีที่แล้วหลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่ วัดป่าสัก เป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยพญาแสนภู หลังจากที่พญามังรายย้ายเมืองไปสร้างเมืองที่เชียงใหม่ จึงให้พญาแสนภูหลานชายกลับมาบูรณะเชียงแสนหลังจากที่ร้างไปหลายปี พญาแสนภูสร้างวัดป่าสักขึ้นในปี พ.ศ. 1838 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยปลูกต้นสัก 300 ต้น ในบริเวณวัดนี้ วัดป่าสัก ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลายในล้านนา เช่น ศรีวิชัย สุโขทัย หริภุญชัย พุกาม และ จีน จึงกลายเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระพุทธรุปปางเปิดโลกที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืนอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลก บางแบบยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองขึ้น มีพระอินทร์ พระพรหม อยู่ฝั่งซ้ายและขวา และมีพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ทำกริยากราบพระองค์อยู่

จากคำบอกเล่าของภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน ถึงความสำคัญของพระพุทธรูปปางเปิดโลก ซึ่งเป็นปางที่แสดงให้เห็นถึงปัญญา และ การตื่นรู้ โดยมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าว่า “เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาโปรดพุทธมารดา จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธองค์ทรงทำ โลกวิวรณปาฏิหาริย์ คือ ทรงเปิดโลกทั้ง 3 อันได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ เหล่าเทวดาในสวรรค์มองเห็นมนุษย์และสัตว์นรก มนุษย์มองเห็นเทวดาและสัตว์นรก สัตว์นรกมองเห็นมนุษย์และเทวดา แล้วจึงเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่สังกัสสนครในวันมหาปวารณา[4] (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)[5]

ปัจจุบัน คำว่า “เปิดโลก” มักใช้ในบริบทของวีดีโอเกม เรียกว่า วิดีโอเกมโอเพ่นเวิร์ล (Open World Video Game) หมายถึง เกมที่ออกแบบมาให้เป็นพื้นที่เปิดที่ไม่เป็นเส้นตรง (non-linear) ซึ่งมีหลายเส้นทางในการเล่นเพื่อบรรลุภาระกิจ เกมโอเพ่นเวิรล์ ช่วยอำนวยความสะดวกในการสำรวจต่างจากเกมแบบดั้งเดิม หรือเกมที่มีระดับความท้าทายเชิงเส้นตรง นักรีวิวเกมตัดสินคุณภาพของเกมโอเพ่นเวิร์ล โดยพิจารณาว่าเกมมีวิธีที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้เล่นในการโต้ตอบกับระดับความท้าทายที่ขยายกว้างขึ้นหรือไม่ และผู้เล่นมีตัวเลือกและมิติมากมายที่พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมของพวกเขา ความหมายของการเล่นเกมโอเพ่นเวิร์ลนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมภัณฑารักษ์สร้างโครงสร้างสำหรับนิทรรศการของเบียนนาเล่ ที่ท้าทายการเล่าเรื่องแบบเส้นตรง  และขยายการเข้าถึงของผู้ชมผ่านธีมและบทต่างๆ ของนิทรรศการ

สำหรับ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ทีมภัณฑารักษ์จึงขอเสนอคำว่า “เปิดโลก” (The Open World) เป็นชื่อของนิทรรศการหลัก คำว่า “เปิดโลก” มีความหมายที่ตรงไปตรงมา แต่มีนัยยะหลายประการ โดยสื่อถึงความต้องการ “เปิด” การรับรู้ศิลปะของผู้คน โดยอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ศิลปะท้องถิ่นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 13 จนถึงปัจจุบัน และคำว่า “เปิดโลก” ยังเชื่อมต่อกับประเด็นร่วมสมัยในระดับโลก แนวคิดนี้ยังนำเสนอความเชื่อมโยงระหว่างรูปทรงสัณฐานโลกร่วมสมัยกับมุมมองและทิศทางของผู้เล่มเกมโอเพ่นเวิร์ลรุ่นต่อรุ่น ในขณะเดียวกัน คำว่า “เปิดโลก” ยังตอบสนองต่อยุคหลังโลกาภิวัตน์ที่การผ่อนคลายพรมแดนซึ่งเริ่มขึ้นหลังยุคสงครามเย็นส่งผลให้เกิดการอพยพเป็นจำนวนมากของผู้คนและทุนข้ามชาติ แต่การเคลื่อนไหวต้องหยุดชะงักในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปตะวันออกที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานและอาหารทั่วโลก และทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า แนวคิด “เปิดโลก” สามารถนำพาเราไปสู่การตั้งคำถามด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัย ว่าเราจะสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ของอนาคตที่ดีกว่านี้ได้อีกหรือไม่  

ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023  “เปิดโลก” ใช้เชียงรายเป็นแหล่งสำรวจทางด้านศิลปะ ที่เผยให้เห็นการคลี่คลายประวัติศาสตร์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอันซับซ้อนของพื้นที่ ศิลปะจะเป็นสื่อกลางระหว่างภูมิภาคอันห่างไกลกันที่ต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งซีกโลกใต้ เริ่มจากแม่น้ำโขง ไปจนถึงแม่น้ำอเมซอน  โดยการใช้มุมมองทางประวัติศาสตร์ของเชียงรายเพื่อสำรวจเมืองว่าเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไรผ่านภูมิประเทศทางธรรมชาติ  รวมทั้งประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นฐานของเมืองซึ่งก่อให้เกิดสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่เพียงแต่ชนเผ่าต่างๆ กว่า 30 ชาติพันธุ์ แต่มีชาวต่างชาติตะวันตก และครอบคลุมศาสนาต่างๆ  เช่น คริสต์ อิสลาม พุทธ ฮินดู ซิกข์ อีกทั้งรูปแบบต่างๆ ของความเชื่อท้องถิ่น และ คติการนับถือผี (animism)

นอกจากนี้นิทรรศการยังสำรวจประวัติศาสตร์ขนาดย่อม (micro histories) ซึ่งเป็นเรื่องราวของสามัญชน โดยใช้บริบทของเชียงรายเป็นจุดเริ่มต้น ในการสร้างบทสนทนากับประเทศเพื่อนบ้านและโลก ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น (translocalism) ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ยังตั้งคำถามต่อระบบความเชื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงจากยุครัฐจารีตจนถึงยุคปัจจุบัน โดยเน้นมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัตินับถือผีในท้องถิ่น และระบบนิเวศทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคซึ่งปัจจุบันถูกนิยามโดย มนุษยสมัย (anthropocene)

ด้วยเหตุนี้นิทรรศการจึงเชิญชวนให้ศิลปิน และผู้ชมพิจารณาคำถามต่อไปนี้  เราจะจัดการกับประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของเมืองได้อย่างไร เราจะแยกความแตกต่างระหว่างตำนาน เรื่องแต่ง และความเป็นจริงด้วยการค้นคว้าจากพงศาวดาร แหล่งโบราณคดี ซากปรักหักพัง โบราณวัตถุ และประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ได้อย่างไร และเราจะทำสิ่งนี้ในลักษณะที่รวมสิ่งที่หลงเหลือจากอดีตเหล่านี้เข้ากับการประกอบสร้างทางวัฒนธรรม ศิลปะร่วมสมัย และประวัติศาสตร์ของปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 มีองค์ประกอบสามส่วน คือ 1) นิทรรศการหลักที่จัดโดยทีมภัณฑารักษ์ จะจัดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ทั่วตัวเมืองเชียงราย และเขียงแสน 2) Pavilion หรือ ศาลา เป็นการแสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน และองค์กรต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ โดยมีศาลาประมาณ 10 แห่ง ทั่วตัวเมืองเชียงรายแสดงคู่ขนานไปกับนิทรรศการหลัก และ 3) Collateral Events เป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นในช่วงเบียนนาเล่ เช่น เทศกาลดนตรีชาติพันธุ์ โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย งานฉายภาพยนตร์โดยทำงานร่วมกับ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และการแสดงสดอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนั้น ผู้ชมจะมีโอกาสเยี่ยมชมบ้าน-สตูดิโอศิลปินเชียงรายซึ่งกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ทั่วเชียงราย โดยจะมีข้อมูลระบุไว้ในแผนที่เดินทางชมงานเบียนนาเล่ด้วย
______________________________________
[1] พลวัฒ ประพัฒน์ทอง
[2] พลวัฒ ประพัฒน์ทอง, หน้า 231
[3] พลวัฒ อ้างแล้ว 232
[4] วันมหาปวารณา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา ตรงกับวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา 3 เดือน คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำการปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน หมายถึงยอมมอบตนให้สงฆ์กล่าวตักเตือน ในข้อบกพร่องที่ภิกษุทั้งหลายได้เห็นได้ยิน หรือมีข้อสงสัย ด้วยจิตเมตตา เพื่อจักได้สำรวมระวังปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อความเจริญของพระธรรมวินัยและความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน วันที่พระสงฆ์ทำมหาปวารณานี้ เรียก “ตามที่เข้าใจกันทั่วไป” ว่า วันออกพรรษา
[5] https://th.wikipedia.org/wiki/ปางเปิดโลก