Seeing Chiang Saen Through Post-Colonial View – เป็นอย่างเชียงแสน : มองเชียงแสนผ่านแนวคิดหลังอาณานิคม

  • 18 ธันวาคม 2565
  • -
  • วัดป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
  • Free

ถอดบทเรียนจากเสวนา ‘Seeing Chiang Saen Through Post-Colonial View – เป็นอย่างเชียงแสน: มองเชียงแสนผ่านแนวคิดหลังอาณานิคม’


ในเสวนาทางวิชาการครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ ‘History & Craft – ศิลปะพลิกพื้นประวัติศาสตร์เชียงราย’ ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เราได้ชวนทุกคนไปเก็บตกประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของประวัติศาสตร์และตำนานเชียงรายในภาพกว้างกันไปแล้ว

ต่อเนื่องจากวงเสวนาครั้งที่แล้ว ในวงเสวนาวิชาการครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 นี้ ก็ได้นำเสนออีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ‘เป็นอย่างเชียงแสน: มองเชียงแสนผ่านแนวคิดหลังอาณานิคม’ เพื่อเจาะลึกเรื่องราวของเชียงแสน ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำและเมืองเศรษฐกิจสำคัญแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า

ประเด็นที่น่าสนใจจากวงเสวนาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ โบราณสถาน วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มาแบ่งปันกัน โดยเสวนาในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงที่ 1 : ศิลปะล้านนา จากอดีตสู่ร่วมสมัย โดย อาจารย์นคร พงษ์น้อย รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว และอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ดำเนินรายการ โดย รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง

ช่วงที่ 2 : มองแอ่งที่ราบเชียงแสนและเชียงรายในดินแดนโซเมีย โดย ดร.เดวิด เทห์ และคุณอริญชย์ รุ่งแจ้ง ดำเนินรายการ โดย ดร.แอนโธนี โลเวนไฮม์ เออร์วิน และคุณกฤติยา กาวีวงศ์ ร่วมอภิปราย โดย รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว


ช่วงที่ 1 : ศิลปะล้านนา จากอดีตสู่ร่วมสมัย


ความงามของเจดีย์วัดป่าสัก

วัดป่าสัก สถานที่จัดเสวนาในครั้งนี้ ถือเป็นวัดสำคัญประจำจังหวัดเชียงรายที่มีเจดีย์ตกแต่งลวดลายปูนปั้นงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ วัดแห่งนี้สร้างโดยพระเจ้าแสนภู กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังราย อาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง บอกเล่าถึงความงดงามของเจดีย์วัดป่าสักว่า “พี่ถวัลย์ ดัชนี เคยพูดกับผมว่า ถ้าแผ่นดินล้านนาถล่มลงใต้บาดาลทั้งหมด แต่ยังเหลือเจดีย์วัดป่าสักอยู่ ศิลปะล้านนาก็จะไม่กระทบกระเทือนใด ๆ ทั้งสิ้น” ทั้งยังกล่าวอีกว่า “คนที่มีความรู้ด้านศิลปะไม่เคยปฏิเสธความงามของพระธาตุนี้เลย” เจดีย์พระธาตุวัดป่าสักประกอบขึ้นจากอิทธิพลของศิลปะหลายแหล่ง ทั้งศิลปะศรีลังกา ศิลปะจีน ศิลปะพม่า หลอมรวมกันเป็นความลงตัวอันงดงาม

ที่มาของชื่อวัดป่าสักมาจากการปลูกต้นสัก 300 ต้นในบริเวณวัด ซึ่งอาจารย์นครอธิบายเพิ่มเติมว่า “ตรงนี้คือความคลาสสิกเพราะมีการสร้างภูมิทัศน์ด้วย วัดในเมืองไทยทั้งหลายที่เลอะเทอะรุงรังอยู่ทุกวันนี้เพราะคนออกแบบไม่เข้าใจเรื่องภูมิทัศน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในการสร้างวัดสร้างวา” และสิ่งที่อาจารย์นครอยากฝากไว้คือการดูแลรักษาโบราณสำคัญเป็นหน้าที่โดยตรงของชาวเชียงแสน การรักษาวัดป่าสักให้คงสภาพธรรมชาติไว้เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะอันทรงคุณค่า

พุทธศาสนาในลุ่มน้ำโขงตอนบน
ลำดับต่อมา รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว บรรยายถึงยุครุ่งเรืองของล้านนาว่า มีเหตุการณ์สำคัญคือการที่พระสุมนเถระนำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัย มาเผยแพร่สู่ล้านนาในสมัยพระญากือนา จึงเป็นที่มาของสร้างวัดบุปผารามหรือวัดสวนดอกขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้สมัยนั้นยังมีการอาราธนาพระสงฆ์ต่างถิ่นเข้ามาที่ล้านนา และส่งพระสงฆ์ล้านนาไปศึกษาในต่างแดน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเครือข่ายศาสนาข้ามพรมแดน

ในการเสวนาครั้งนี้ รศ.ดร.วสันต์ อ้างอิงถึง ‘ตำนานพระเจ้าเลียบโลก’ ซึ่งถ้าอ่านในเชิงวรรณกรรมจะพบว่าตำนานพยายามเล่าให้เห็นถึงเครือข่ายของดินแดนที่อยู่ภายใต้อำนาจเดียวกัน และจากประสบการณ์ทำงานวิจัยที่เมืองสิบสองปันนามากว่า 20 ปี รศ.ดร.วสันต์ พบสิ่งที่น่าสนใจคือธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างของศาสนาพุทธในสิบสองปันนาแทบไม่แตกต่างจากศาสนาพุทธในล้านนา นอกจากนี้สิบสองปันนายังใช้ภาษาเขียนแบบเดียวกับล้านนา ซึ่งทุกวันนี้ในเมืองไทยหาคนอ่านออกได้ยาก แต่พระสงฆ์สิบสองปันนายังคงอ่านภาษาเหล่านี้ได้

การลงพื้นที่สิบสองปันนา ทำให้รศ.ดร.วสันต์ มีโอกาสไปเยือนหมู่บ้านหนึ่งที่พูดภาษาแบบคนเชียงราย ชื่อว่า ‘บ้านมอง’ แผลงมาจากคำว่าบ้านมังราย โดยมีการบันทึกไว้ว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านมองคือทหารเชียงแสนที่พระญามังรายส่งมาช่วยรบกับจีนฮ่อ การค้นพบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของชนชาติต่าง ๆ มีความเกี่ยวพันแนบแน่นกับดินแดนข้างเคียงอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ หากต้องการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ให้ถึงแก่น จึงต้องก้าวข้ามให้พ้นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

จากประวัติศาสตร์สู่อนาคต
ด้วยความเป็นเมืองชายแดนบนเส้นทางการค้าระหว่างประเทศริมแม่น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติสายสำคัญแห่งอุษาคเนย์ เชียงแสนจึงนับว่าเป็นทำเลที่เหมาะอย่างยิ่งแก่การตั้งถิ่นฐาน และถือเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาในยุคแรกเริ่มก่อนจะย้ายเมืองหลวงไปสู่เชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ได้อธิบายขยายความว่า แม้จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เชียงใหม่ แต่กษัตริย์หลายพระองค์เมื่อสละราชบัลลังก์แล้ว ก็ยังคงย้ายกลับมาใช้ชีวิตเกษียณที่เชียงแสน เสมือนเป็นการย้ายกลับสู่บ้านเกิด

นอกจากนี้ อาจารย์วิถียังเปิดประเด็นให้ผู้ฟังขบคิดถึงความซับซ้อนในมิติต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ล้านนา โดยกล่าวว่า “เรื่องของล้านนายังมีอะไรอีกเยอะที่ต้องนำมาตีความกัน แม้กระทั่งคำว่าล้านนาก็น่าสนใจ เพราะล้านเป็นภาษาไทยกลาง คำเมืองเรียกกือนา กือแปลว่าล้าน คนกรุงเทพฯ บังคับให้เราพูดคำว่าล้านนาแทนที่จะเป็นกือนา” ทั้งยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรศึกษา เช่น ในยุคก่อนเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ สร้างมาสิ้นสุดแค่สุโขทัย เพราะถือว่าดินแดนที่อู้กำเมืองและกินข้าวนึ่งไม่ใช่ประเทศไทย แต่ต่อมาได้มีการขยายทางรถไฟเนื่องจากต้องการขนส่งไม้สักจากทางเหนือลงไป

หากต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างเจาะลึก เชียงแสนก็นับว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่ควรมาเยือนเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่นี่คือศูนย์รวมความหลากหลายทางชาติพันธุ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมโบราณที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ



ช่วงที่ 2 มองแอ่งที่ราบเชียงแสนและเชียงรายในดินแดนโซเมีย

ตามทฤษฎีของนักมานุษยวิทยา โซเมีย (Zomia) คือคำที่ใช้เรียกพื้นที่สูงบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอำนาจรัฐจากพื้นที่ราบไม่สามารถเข้าถึงผู้คนในดินแดนเหล่านั้นได้ โดยเชียงรายก็นับรวมเป็นส่วนหนึ่งของโซเมียด้วยเช่นกัน ทีมจัดงานเบียนนาเล่จึงนำหัวข้อนี้มาสร้างบทสนทนา เพื่อชี้ให้เห็นถึงการมองพื้นที่เชียงรายเชิงกายภาพจากอีกทฤษฎีหนึ่ง นอกเหนือจากความเป็นรัฐชาติของไทย

ดร.เดวิด เทห์ ภัณฑารักษ์และนักวิจัยชาวออสเตรเลียจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้สนใจด้านศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พูดถึงคอนเซ็ปต์ของโซเมียว่า แนวคิดนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ปกครองกับผู้อยู่ภายใต้การปกครองที่พยายามหลีกหนีจากอำนาจรัฐ ซึ่งนอกจากการตีความโซเมียเชิงกายภาพของพื้นที่แล้ว คำนี้ยังถูกนำมาใช้อธิบายแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มศิลปินร่วมสมัย ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการหลุดพ้นจากการครอบงำของรัฐ

โดยดร.เดวิด ยกตัวอย่างผลงานของปรัชญา พิณทอง ศิลปินไทยที่ทำงานศิลปะเชิงความคิด (Conceptual Art) ผลงานชุดหนึ่งของเขาสร้างขึ้นจากการติดตามชีวิตคนงานอีสานที่ไปรับจ้างเก็บเบอร์รี่ในประเทศสวีเดน เพื่อนำเสนอเรื่องราวของคนที่พยายามออกจากระบอบการปกครองของรัฐไทย ด้วยการเดินทางไปแสวงหางานในต่างแดน แม้จะลำบากและต้องดิ้นรนแต่ก็มีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า

ทางด้านของอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ได้พูดถึงแนวคิดทางสุนทรียะที่สะท้อนเรื่องปรัชญา โดยยกตัวอย่างการ์ตูนญี่ปุ่นที่สะท้อนปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออกผ่านงานศิลปะร่วมสมัย ตัวละครแรกคือ กุเดทามะ (Gudetama) ไข่ดิบที่ไม่มีเป้าหมายชีวิต เป็นไข่ที่ยอมรับโชคชะตาและธรรมชาติที่เป็นไป ขณะที่อีกตัวละครหนึ่งคือ ชากิปิโยะ (Shakipiyo) ลูกเจี๊ยบที่เกิดขึ้นมาแล้วตั้งคำถามว่าอะไรคือเป้าหมายชีวิต ภารกิจของเขาคือการตามหาแม่ ตามหาความเป็นออริจินัล เป็นสองแนวคิดขั้วตรงข้ามที่แนวคิดหนึ่งให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก ส่วนอีกแนวคิดให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชน

นอกจากนี้ เขายังเล่าถึงความทรงจำของตนเองเกี่ยวกับพ่อที่เป็นจุดเริ่มต้นของการขบคิดว่าเราต่างเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์และสังคม และนำไปสู่อีกแนวคิดคือเราสามารถสร้างประวัติศาสตร์ของเราเองได้ “พ่อผมเป็นวิศวกรทำงานในบริษัทเดินเรือ ต้องไปทำงานต่างประเทศ ปี 1977 โดนคนเหยียดเชื้อชาติรุมทำร้ายบาดเจ็บ กลับมาไทยไม่นานก็เสียชีวิต ทำให้ผมตั้งคำถามตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ความเป็นปัจเจกผลิตชุดความคิดที่สะท้อนรูปทรงของสังคมนั้น ๆ ทำไมถึงมีกลุ่มคนที่เหยียดเชื้อชาติ”

อริญชย์ไม่ได้มองว่าโซเมียคือการหลุดพ้นจากความเป็นรัฐชาติ แต่เป็นเรื่องของการ Romanticize ว่าเรายังมีรัฐที่ไม่ถูกตั้งชื่อ สุดท้ายแล้วโซเมียจึงเป็นเรื่องของอำนาจที่มากระทำกับความทุกข์ยากของมนุษย์ อำนาจเหล่านี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปตราบเท่าที่เราไม่ยอมรับธรรมชาติความเป็นไปของโลก สิ่งที่เรากำลังตระหนักอยู่ในชุมชนเชียงแสน หรือชุมชนที่เรากำลังบอกว่านี่คือผลผลิตของประวัติศาสตร์ล้านนา มันคือความสำคัญในแง่ที่ทุก ๆ คนใช้ความทรงจำร่วมกัน ใช้ประวัติศาสตร์ร่วมกัน ศิลปะไม่มีอำนาจที่อยู่เหนือในการสร้างหรือเขียนประวัติศาสตร์นั้นขึ้นใหม่ แต่เมื่อตำนานพื้นบ้านถูกเล่าแล้วเล่าอีกจนกลายเป็นหินที่ส่องประกายคล้าย ๆ พลอย จุดนี้คือสิ่งที่อริญชย์คิดว่าสำคัญในฐานะที่เขาเป็นศิลปินที่กำลังทำงานศิลปะร่วมสมัย